เกร็ดความรู้เทอร์โบ
TRIPS & TRICKS
ข้อแนะนำในการเลือกใช้ท่อน้ำมันเลี้ยงเทอร์โบ
สาเหตุความเสียหายของเทอร์โบ
1. น้ำมันเครื่องเข้าช้า หรือ เข้าไม่ทัน ( Oil Delay )
ลักษณะความเสียหาย
กันรุนและบู๊ช เกิดรอยสึกที่ผิวซึ่งอาจเป็นทั้งด้านในหรือด้านนอก หรือทั้งสองด้าน จนเห็นได้ชัดแต่ยังไม่มีรอยไหม้
สาเหตุ
-
ท่อน้ำมันเครื่องไหลเข้าเลี้ยงแกนเทอร์โบอุดตัน
-
ระดับน้ำมันเครื่องต่ำเกินไป
-
ปั๊มน้ำมันเครื่องหลวมหรือไม่สมบูรณ์
-
ไส้กรองน้ำมันเครื่องอุดตัน
-
ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์เป็นเวลานานหรือเพิ่งโอเวอร์ฮอลเครื่องยนต์ แล้วสตาร์ทเร่งเครื่องยนต์ทันที
-
ขาดการเติมน้ำมันเข้าไส้กรอง เมื่อเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องใหม่
-
เร่งเครื่องยนต์อย่างรุนแรง เมื่อสตาร์ท หรือก่อนดับเครื่องยนต์
2. ขาดน้ำมันเครื่องหล่อลื่น ( Oil Starvation )
ลักษณะความเสียหาย
-
แกนไอเสีย : บริเวณแกนไอเสียจะมีรอยไหม้และเปลี่ยนเป็นสีรุ้ง เนื่องจากความร้อนที่เสียดสี ในช่วงขาดน้ำมันหล่อลื่น
-
กันรุนและบู๊ช : เกิดการสึกหรอและมีรอยไหม้
สาเหตุ
-
ท่อน้ำมันเครื่องไหลเข้าเลี้ยงแกนเทอร์โบแตกร้าวหรืออุดตันอย่างมาก
-
ระดับน้ำมันเครื่องต่ำมาก หรือขาดน้ำมันหล่อลื่น
-
ปั๊มน้ำมันเครื่องเสียหาย หรือหลวมจนสร้างแรงดันไม่เพียงพอ
-
กรองน้ำมันเครื่องตัน
-
ทางเดินน้ำมันในเสื้อกลางเทอร์โบ เกิดอุดตันจากคราบตะกรันน้ำมันเครื่องสะสมอยู่มาก
3. น้ำมันเครื่องสกปรก ( Dirt Ingress )
ลักษณะความเสียหาย
-
แกนไอเสีย : บริเวณแกนไอเสียเกิดเป็นรอยเส้นที่ตัวแกนชัดเจน
-
เสื้อกลางเทอร์โบ : ร่องบู๊ชสึกเป็นรอยเส้นอย่างชัดเจน
-
บู๊ช : ผิวบู๊ชสึกเป็นรอยเส้นทั้งด้านนอกและด้านใน
สาเหตุ
-
ไส้กรองน้ำมันเครื่องอุดตันมาก จนน้ำมันเครื่องไหลผ่าน By pass Valve
-
ใช้ไส้กรองน้ำมันเครื่องไม่ถูกต้อง รูกระดาษใหญ่เกินไป
-
น้ำมันเครื่องเกิดเป็นตะกรัน เนื่องจากเครื่องโอเวอร์ฮีท
-
ภายในท่อน้ำมันเครื่องสกปรกมาก ในช่วงการถอด – ใส่เทอร์โบ
-
มีเศษโลหะที่เกิดจากการสึกหรอของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์
-
มีเศษโลหะตกค้างในก้นอ่างหลังโอเวอร์ฮอลเครื่องยนต์ ซึ่งไม่ได้ทำความสะอาดอย่างเพียงพอ
4. ความร้อนสูงเกินไป ( Over Heating )
ลักษณะความเสียหาย
-
แกนไอเสีย : เกิดการสะสมของตะกรัน
-
เสื้อกลางเทอร์โบ : เกิดตะกรันภายในเสื้อกลาง ทำให้ทางเดินน้ำมันอุดตัน
-
โข่งไอเสีย : เกิดบวมและแตกร้าว โดยเฉพาะบริเวณร่องแบ่งกลางจะแตก
สาเหตุ
-
อุณหภูมิน้ำมันเครื่องและอุณหภูมิไอเสียเครื่องยนต์สูงเกินไปเนื่องจากหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงฉีดไม่เป็นฝอย เกิดการเผาไหม้ต่อในโข่งไอเสีย
-
ไส้กรองอากาศอุดตัน ทำให้อากาศที่เข้าเครื่องยนต์ไม่เพียงพอและเชื้อเพลิงเผาไหม้ไม่หมด
-
ใบพัดไอดีสึกหรอมาก อัดอากาศได้น้อยเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์
-
การใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ผิดจากสเป็กเทอร์โบเดิม เช่น โข่งไอเสีย หรือใบพัดไอดีเล็กเกินไป
-
ในกรณีเครื่องยนต์แก๊ส – ส่วนผสมของอากาศต่อเชื้อเพลิง สูงเกินไป ( Lean ) เนื่องจากการบู๊สของเทอร์โบสูงเกินไป หรือแก๊สที่ปล่อยเข้าเครื่องยนต์น้อยเกินไป
5. เทอร์โบเกิดไม่บาล้านซ์ ( Rotor Unbalance )
ลักษณะความเสียหาย
-
แกนไอเสีย : เกิดการสึกที่ไม่สม่ำเสมอที่ผิวแกน รวมถึงเพลาคด
-
บู๊ช : สึกที่ผิวลักษณะไม่สม่ำเสมอ
-
ใบพัดไอดี / ไอเสีย : เกิดการเสียดสีกับฝาและโข่ง
สาเหตุ
-
ใบพัดไอดี / ไอเสีย เสียหาย
-
เปลี่ยนชุดซ่อม โดยไม่บาล้านซ์ แกนไอเสียและใบพัดไอดี
-
ใช้อะไหล่ไม่ถูกต้อง
6. เสียหายเนื่องจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก ( Foreign Body Damage )
ลักษณะความเสียหาย แบบที่ 1 ( กรณีเกิดขึ้นด้านใบพัดไอดี )
-
ยอดใบพัดไอดี มีลักษณะเป็นรอยหยักเล็กๆ หรือครีบใบบิดงอเล็กน้อย
-
ยอดใบพัดไอดี มีลักษณะครีบใบแตกหักหรือล้มรูดทั้งใบ
สาเหตุ
-
กรองอากาศหมดสภาพ มีรอยรั่วทะลุเป็นรูใหญ่ เนื่องจากการเป่าทำความสะอาดซ้ำๆ หลายครั้ง หรือใช้ไส้กรองอากาศเทียมไม่มีคุณภาพ
-
ท่ออากาศด้านดูดรั่วหรือปริแตก บริเวณระหว่างหลังหม้อกรองอากาศจนถึงปากเทอร์โบด้านดูด
-
ลืมอะไหล่ไว้ในกรองอากาศ หลังเป่าทำความสะอาดแล้วติดตั้ง เช่น แหวนรองน็อต เป็นต้น
ลักษณะความเสียหาย แบบที่ 2 ( กรณีเกิดขึ้นด้านใบพัดไอเสีย )
-
ใบพัดไอเสีย มีลักษณะเป็นรอยบิ่น หรือครีบใบพัดบิดงอเล็กน้อย
-
ใบพัดไอเสีย มีลักษณะครีบใบแตกหัก หรือบางกรณีแกนขาด
สาเหตุ
-
มีสิ่งแปลกปลอมจากเครื่องยนต์ที่สึกหรอ หลุดมาตีใบพัดไอเสีย เช่น เศษแหวนลูกสูบ เศษปะเก็นฝาสูบ เศษบ่าวาล์ว เป็นต้น
-
มีเศษโลหะที่ตกค้างภายในเครื่องยนต์หลุดมาตีใบพัดไอเสีย หลังจาก Overhaul เครื่องยนต์
-
มีเศษโลหะที่ตกค้าง ภายในท่อร่วมไอเสีย ( เขาควาย ) หลังจากมีการถอดเชื่อมแก้ไข
ข้อแนะนำในการติดตั้งท่อน้ำมันเข้าเทอร์โบ
บ่อยครั้งที่ความเสียหายของเทอร์โบใหม่ เกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของช่างติดตั้งเทอร์โบ โดยเฉพาะระบบน้ำมันเข้าเทอร์โบ
ข้อห้าม และ ข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องหากปฏิบัติตาม
1. การใช้เทปพันเกลียวที่น็อตน้ำมัน
2. การใช้กาวปะเก็นทาที่ปะเก็นกระดาษ ทางน้ำมันเข้า
3. ทุกครั้งที่มีการตัดน็อตน้ำมันให้สั้นลง จะต้องทำการเจียร์แต่งให้เรียบร้อย
ตามที่กล่าวมา ทั้ง 3 กรณี
ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เทอร์โบเกิดความเสียหายอย่างมากในทันที เนื่องจากเศษเทปพันเกลียว ปะเก็นเหลว หรือเศษโลหะจะหลุดเข้าไปอุดทางน้ำมันเข้าในเสื้อกลาง ทำให้กันรุน และบู๊ชสึกหรอมาก ใบพัดไอดี-ไอเสียเบียดโข่งได้ในทันที